วัดในเกราะเกร็ด

วัดปรมัยยิกาวาสวรวิหาร

วัดปรมัยยิกาวาสวรวิหาร เป็นวัดอารามหลวงชั้นโท เดิมชื่อ วัดปากอ่าว เป็นวัดโบราณสร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ถูกทิ้งเป็นวัดร้างหลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 จนถึง พ.ศ. 2317 พระเจ้าตากสินมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้ชาวมอญมาตั้งบ้านเรือนที่เกาะเกร็ด พระสุเมธาจารย์ ( เถ้า ) พระเถระผู้ใหญ่ฝ่ายรามัญได้รวบรวมผู้มีจิตศรัทธาสร้างขึ้น ได้สร้างพระเจดีย์ทรงรามัญ ชื่อเจดีย์ร่างกุ้ง รวมทั้งพระพุทธไสยาสน์ และท่านได้เป็นเจ้าอาวาสองค์แรกของวัดนี้

 

พ.ศ. 2417 วันเสาร์ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 12 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทอดพระกฐิน ณ วัดปากอ่าวและวัดใกล้เคียง ได้เสด็จทอดพระเนตรบริเวณวัดซึ่งเสนาสนะต่างปรักหักพังทรุดโทรม ทรงคำนึงถึงพระเจ้าบรมมหัยยิกาเธอ กรมสมเด็จพระสุดารัตน์ราชประยูร ซึ่งอภิบาลบำรุงพระองค์มาแต่ยังทรงพระเยาว์ ทรงมีรับสั่งอยู่เนืองๆ ว่าถ้าทรงพระเจริญขึ้นแล้วขอให้ทรงช่วยให้ได้สร้างพระอารามหนึ่ง จึงทรงกำหนดจะปฏิสังขรณ์วัดปากอ่าว และทรงมีพระราชดำรัสต่อพระคุณวงศ์ ( สน ) เจ้าอาวาสให้ทราบพระราชประสงค์ และทรงนำพระราชดำริกราบทูลแด่พระเจ้าบรมมหัยยิกาเธอ กรมสมเด็จพระสุดารัตน์ราชประยูร ซึ่งทรงพระปิติปราโมทย์เมื่อได้ทรงทราบเช่นนั้น

 

การปฏิสังขรณ์วัดปากอ่าว มีพระยาอัศนีศาภัยจางวาง กรมพระแสงปืนต้นเป็นแม่กองปฏิสังขรณ์ เริ่มทำกุฏิสงฆ์และหอไตรแบบมอญ เมื่อวันอาทิตย์ขึ้น 2 ค่ำ เดือนยี่ ปีจอ พ.ศ. 2417 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาก่อฤกษ์พระอุโบสถใหม่ โดยมีพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้ากฤษฎาภินิหาร ( ต้นราชสกุลกฤดากร ) เป็นนายกอง พระราชสงคราม ( ทัด ) เป็นช่างทำพระอารามที่สร้างใหม่ทั้งหมด คงรูปแบบมอญไว้ เนื่องจากเป็นวัดมอญ ทรงโปรดให้สร้างพระไตรปิฎก เป็นภาษามอญ ให้พระยาศรีสุนทรโวหารเจ้ากรมพระยาลักษณ์จารึกเรื่องทรงพระอารามนี้ลงในเสาศิลาเป็นอักษรไทยเสาหนึ่ง และพระสุเมธาจารย์แปลเป็นภาษามอญ และทรงโปรดให้จารึกเป็นภาษามอญอีกเสาหนึ่ง จารึกทั้งอักษรไทยและอักษรมอญอยู่ที่หน้าพระอุโบสถ และโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามพระอารามนี้ใหม่ว่า วัดปรมัยยิกาวาส
( ปรมัยยิกาวาส คือ พรม + อัยยิกา + อาวาส )

 

พระอุโบสถวัดปรมัยยิกาวาสอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีขนาดยาว 9 วา 3 ศอก กว้าง 5 ศอก 7 ห้อง เฉลียงปูศิลาขาว ศิลาดำ ลาดพระอุโบสถปูศิลารอบพระอุโบสถ มีรั้วเหล็ก บานประตูเหล็ก ซึ่งเป็นเหล็กชั้นดีที่สั่งจากยุโรปในสมัยรัชกาลที่ 5 มีลวดลายสวยงาม ซุ้มเสมาใหญ่ ฐานกว้าง 2 วา 4 เหลี่ยม อยู่ในมุมทั้ง 4 ทิศ

 

ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง ฝีพระหัตถ์หม่อมเจ้าพระวิช ในพระเจ้าราชวงศ์เธอกรมขุนราชศีหวิกรม เป็นภาพแสดงเรื่องธุดงวัตร 13 และพุทธประวัติโดยเฉพาะ พระพุทธกิจหลังการตรัสรู้ ( พระพุทธจรรยา ) เป็นพระวินัยของพระสงฆ์เกี่ยวกับผ้าจีวร 2 บท เกี่ยวกับภัตตาหาร 5 บท เสนาสนะ 5 บท และเกี่ยวกับความเพียร 1 บท ตกแต่งภายในด้วยลายปูนปั้นแบบตะวันตก จึงมีลักษณะของศิลปะตะวันออกผสมกลมกลืนกับตะวันตกอย่างงดงาม

 

ด้านหน้าพระอุโบสถมีคำจารึกหินอ่อนทั้งด้านขวาและด้านซ้ายของประตูพระอุโบสถ เป็นคำโคลงสี่สุภาพกล่าวถึงประวัติการบูรณะพระอารามวัดปากอ่าวเดิมจนแล้วเสร็จ แล้วพระราชทานนามวัดว่า วัดปรมัยยิกาวาส หน้าบันพระอุโบสถประดับตราพระเกี้ยว

 

wat1

 

wat21

wat3

 

wat4

 

wat5

 

wat61

 

วัดฉิมพลีสุทธาวาส
                วัดฉิมพลี ตั้งอยู่ริมคลองลัดเกร็ด และอยู่ทางทิศใต้ของวัดปรมัยยิกาวาส ห่างจากวัดปรมัยยิกาวาส ประมาณ 800 เมตร ถ้าหากจะไปชมวัดนี้ โดยข้ามฟากที่ท่าวัดกลางเกร็ดจะสะดวกมากกว่า เพราะเมื่อขึ้นจากท่าเรือฝั่งเกาะเกร็ดแล้วเดินขึ้นไป ทางทิศเหนืออีกเล็กน้อยก็ถึงวัดนี้
                วัดฉิมพลีเป็นวัดสมัยอยุธยาตอนปลายอีกวัดหนึ่ง เดิมชื่อ วัดป่าฝ้ายสันนิษฐานกันว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงปฏิสังขรณ์แล้วทรงตั้งชื่อใหม่ว่า วัดฉิมพลีสุทธาวาสตามชื่อเดิมของพระองค์คือเจ้าฟ้าชายฉิมโบราณสถานของวัดคือ พระอุโบสถ ซึ่งมีฐานโค้งแบบท้องเรือสำเภา หน้าบันจำหลักไม้เป็นรูปเทพทรงราชรถล้อมรอบด้วยดอกไม้ ทั้งซุ้มประตูและซุ้มหน้าต่างสวยงามมาก และมี ตุ๊กตาหิน เข้าใจว่านำมาจากเมืองจีน ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

 

wat7

 

wat8

 

วัดป่าเลไลยก์

                วัดป่าเลไลยก์ เป็นวัดร้างตั้งอยู่ติดกับวัดฉิมพลี ปัจจุบันจึงรวมกับวัดฉิมพลี ยังมีโบราณสถานของวัดเหลืออยู่คือ พระอุโบสถ กับ พระเจดีย์ 2 องค์ ภายในพระอุโบสถมีพระประธานสัมฤทธ์ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 3 ศอกด้วย 

wat9

วัดศาลากุล
                วัดศาลากุล เป็นวัดไทยวัดเดียวในเกาะเกร็ด ตั้งอยู่เกือบกลางเกาะเกร็ด และอยู่ในหมู่ที่ 3 การเดินทางไปยังวัดนี้ ถ้าหากข้ามเรือที่ท่าวัดกลางเกร็ด เมื่อขึ้นที่ท่าเกาะเกร็ด จะมีถนนไปถึงวัดนี้ได้ ระยะทางประมาณ 1400 เมตร กล่าวกันว่าวัดนี้เป็นวัดเก่าเช่นกัน เดิมตั้งอยู่ริมแม่น้ำ เนื่องจากดินริมแม่น้ำงอกขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันนี้จึงอยู่เกือบกลางเกาะเกร็ด โบราณสถานของวัดสร้างขึ้นใหม่ทั้งหมดทั้งพระอุโบสถและศาลา แต่ยังมีโบราณวัตถุ เก่าเช่น เครื่องมุก, เครื่องแก้ว, และอื่นๆ ซึ่งทางวัดเก็บรักษาไว้ วัดนี้มีชื่อเสียงในการทำเครื่องรางของขลัง เช่น หนุมานแกะสลัก ของพระอาจารย์สุ่น อดีตเจ้าอาวาส เป็นต้น


wat10

วัดไผ่ล้อม
                วัดไผ่ล้อม ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา และอยู่ทางทิศตะวันตกของวัดปรมัยยิกาวาส ห่างจากวัดปรมัยยิกาวาสตามทางเดินประมาณ 350 เมตร เข้าใจว่าวัดนี้คงสร้างสมัยอยุธยาตอนปลายเช่นกัน โบราณสถานของวัดที่น่าชมคือ พระอุโบสถ ซึ่งมีหน้าบันจำหลักไม้ เป็นรูปดอกไม้ที่สวยงามมาก มีคันทวยและบัวหัวเสาที่มีความงามไม่แพ้กัน ด้านหน้าของพระอุโบสถมี เจดีย์ 2 องค์มีฐานเป็นสี่เหลี่ยม ย่อมุมไม้สิบสอง ซึ่งคนมอญเรียกว่า เพี๊ยะโต้ทั้งพระอุโบสถและเจดีย์ได้รับการบูรณะจนดูเสมือนสร้างขึ้นใหม่ 

wat11วัดเสาธงทอง
                วัดเสาธงทอง ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาเช่นกัน และอยู่ทางทิศตะวันตกของวัดไผ่ล้อม ห่างจากวัดไผ่ล้อมประมาณ 300 เมตร ดังนั้นวัดเสาธงทอง วัดไผ่ล้อม และวัดปรมัยยิกาวาส จึงอยู่ไม่ไกลกันมากนัก เดิมวัดเสาธงทองมีชื่อว่า วัดสวนหมากเข้าใจว่า เมื่อสร้างวัดใหม่ๆคงมีสวนหมากมาก หรือที่ตั้งวัดอาจเป็นสวนหมากมาก่อนก็ได้ สันนิษฐานกันว่าวัดนี้ได้รับการปฎิสังขรณ์ ในตอนปลายรัชกาลที่ 4 โดยเจ้าจอมมารดาอำภาในรัชกาลที่ 2 และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยเสด็จวัดนี้เมื่อปีพ.ศ. 2440 และได้เสด็จชมสวนสะท้อนห่อที่เกาะเกร็ดด้วย โบราณสถานของวัดเสาธงทอง คือ พระอุโบสถ และ เจดีย์เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง ซึ่งคนมอญเรียกว่า เพี๊ยะอาล๊าดเข้าใจว่าคนมอญเป็นผู้สร้างนั่นเอง 

wat12


One Comment

Trackback URI